งานแถลงข่าวโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน
ขอขอบคุณผู้ร่วมงานแถลงข่าวโครงการเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยเพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันและพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันโดยใช้ Digital Platform
ระหว่าง สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ อาคาร ส.ธ. ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วันอังคาร ที่ 7 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา เวลา 10.00 น.
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย กล่าวเปิดงานแถลงข่าวโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวรายงาน โครงการดังกล่าวมีการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงวัยและมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกอาการแสดงยังมีไม่มาก นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ในปัจจุบันกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัย จึงมีอาการค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลางแล้ว ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มาก ผู้ป่วยเริ่มเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
ในปี 2565 ทางศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ได้พัฒนา ระบบ Digital platform ใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเซ็นเซอร์ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ดังนี้
1. แบบสอบถามต้นแบบนวัตกรรมชุดคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันเคลื่อนที่
2. การคัดกรองเสียง
3. การทดสอบลายมือเขียน
4. การทดสอบความคล่องแคล่วของนิ้วมือและการแตะสลับนิ้ว หรือ (alternative tap test)
5. การประเมินอาการสั่น (tremor analysis)
6. การประเมินการเดิน (gait analysis)
กิจกรรมภายในงาน เสวนาหัวข้อ “ประสบการณ์จริงของพาร์กินสัน สู่กาชาดร่วมหาทางออก” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เสวนาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยโรคพาร์กินสัน ร่วมกับ คุณมาริษา โชคพัชรเวสน์ ประธานชมรมผู้ป่วยพาร์กินสัน และผู้ดูแล นำมาสู่การดำเนิน “โครงการเฉลิมพระเกียรติ ฯ สำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน” และการระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติ ฯ โดยคุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย
การนำเสนอการใช้แอปพลิเคชัน “Check PD”
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.แพทย์หญิงจิรดา ศรีเงิน เพื่อใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน และมีการใช้เว็บแอปพลิเคชันในการคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยผู้พัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน
จาก บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด โดยภายในงานมีศิลปิน ดารา ได้แก่ มีคุคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ดารานักแสดง, คุณนวนันท์ บำรุงพฤกษ์ ผู้ประกาศข่าว ช่อง One, คุณชล วจนานนท์ ผู้บรรณาธิการข่าว เทคโนโลยี สถานีข่าว TNN 16
ร่วมพูดคุย และเชิญชวนให้ใช้แอปพลิเคชัน “Check PD” เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยร่วมกันสามฝ่าย ดังนี้
1. สภากาชาดไทย ซึ่งประกอบด้วย
- นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้การสนับสนุนการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันโดยใช้ Digital Platform
และการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาในระบบสาธารณสุขตามสิทธิ์พื้นฐาน
3. บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด โดยนายธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์
จำกัด สนับสนุนการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศของโครงการ
วัตถุประสงค์การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
เพื่อสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ร่วมกับสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน แบบเชิงรุก (Active Case Finding) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถเข้าถึง ผู้ที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้รับการตรวจวินิจฉัยและส่งต่อในระบบสาธารณสุขเพื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน ฯ ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วม "ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์" สำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ด้วยการร่วมบริจาคเงินสนับสนุนภายใต้แคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วประเทศ ให้ได้รับการส่งต่อเพื่อการรักษาที่รวดเร็วต่อเนื่องและส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้” ประเภทบัญชี “ออมทรัพย์” เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 หรือสแกน QR Code e-Donation ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าโดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จรับเงิน สอบถามรายละเอียดการบริจาคเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ Donation HUB "รับ" เพื่อ "ให้" โทรศัพท์ 02-256-4440-3 Line: @redcrossfund
สุดท้ายมีการเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ชมรมเพื่อนพาร์กินสัน และการใช้แอปพลิเคชัน คัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน “Check PD” โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน Line: @thaipd ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
อาคาร ส.ธ. ชั้น 7 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
1873 ถ.พระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Website: www.thaipd.org / E-Mail: thaipd@chulapd.org / Line: @thaipd
โทรศัพท์: 081-107-9999, 02-256-4000 ต่อ 70701-5, 71201-2